บั้นปลายชีวิต ของ นอร์แมน ซัตตัน

วันที่ครูซัตตันเดินทางออกจากประเทศไทย เมื่อ วันที่ 20 สิงหาคม พ.ศ. 2473 เพื่อไปขึ้นเรือที่สิงคโปร์กลับอังกฤษนั้น หนังสือพิมพ์บางกอกไทม์ลงข่าวใหญ่ว่าเป็นวันที่ชานชลาสถานีรถไฟหัวลำโพงมีคนมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ หลังครูซัตตันกลับอังกฤษแล้ว ยังไม่ปรากฏเรื่องราวชีวิตความเป็นอยู่ของครูซัตตันมากนักว่าได้ไปสอนที่โรงเรียนแห่งใดหรือไปทำงานอะไรอีกบ้าง ครูสวัสดิ์ จันทรงาม ลูกศิษย์ใกล้ชิดผู้หนึ่งของครูซัตตันเขียนเล่าไว้ว่า เกือบทุกๆ ปีใหม่ครูซัตตันจะส่งธนบัตรใบละ 1 ปอนด์มาฝากให้ครูสวัสดิ์นำไปให้ภารโรงคนหนึ่งอย่างสม่ำเสมอจนถึงแก่กรรม ครูซัตตันเริ่มป่วยเป็นโรคข้อเมื่อ พ.ศ. 2490 เมื่ออายุได้ 66 ปี ในอีก 2 ปีต่อมาก็เป็นโรคเส้นเลือดใหญ่หัวใจตีบเพิ่มขึ้นอีก แม้จะรักษาเป็นอย่างดีอาการก็ไม่ดีขึ้น และยังเกิดโรคแทรกจนถึงแก่กรรมที่บ้านตำบลโซลส์ เมืองลีดส์ ประเทศอังกฤษเมื่ออายุได้ 69 ปี ครูซัตตันมีบุตรชาย 2 คนและบุตรสาว 1 คน

ครูนอร์แมน ซัตตันได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ 5 ครั้ง โดยครั้งสุดท้ายได้รับเมื่อถวายบังคมลาออกจากราชการคือชั้นทวีติยาภรณ์ช้างเผือก และด้วยความระลึกถึงครู คณะศิษย์เก่าสวนกุหลาบได้จัดตั้ง “มูลนิธิอาจารย์นอร์แมน ซัตตัน” ขึ้นในเวลาต่อมาเพื่อเป็นอนุสรณ์แก่อาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักและทำประโยชน์ให้ไม่เฉพาะโรงเรียนสวนกุหลาบแต่รวมไปถึงความเจริญด้านวิชาการ การกีฬาและจริยธรรม